วันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2553

บทบาทพระมหากษัตริย์ไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ต่อการพัฒนาชาติไทย


บทบาทพระมหากษัตริย์ไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ต่อการพัฒนาชาติไทย




ด้านสังคม

(1) การควบคุมกำลังคน
เมื่อแรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีใหม่ ๆ สังคมไทยต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนกำลังคนอย่างมาก เพราะต้องใช้กำลังคนทั้งการก่อสร้างพระนครใหม่ การป้องกันบ้านเมือง และต้องการไว้รบเพื่อเตรียมทำสงคราม ฉะนั้นระบบไพร่จึงมีบทบาทสำคัญมาก

ระบบไพร่ หรือ การควบคุมกำลังคนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยังคงอาศัยระบบไพร่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นรากฐาน จากสภาพทางเศรษฐกิจที่การค้ากับต่างประเทศกำลังเจริญรุ่งเรืองกว่าแต่ก่อน ตลอดจนการเข้ามาของมหาอำนาจตะวันตก มีผลทำให้ระบบไพร่ในสมัยนี้ลดการควบคุมที่ค่อนข้างเข้มงวดลง ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ไพร่หลวงจะต้องถูกเกณฑ์แรงงานประจำ เข้าเดือน ออกเดือน รวมแล้วปีหนึ่งต้องถูกเกณฑ์แรงงาน 6 เดือน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 การเข้าเวรทำงานของไพร่หลวงได้รับการผ่อนปรนให้ทำงานน้อยลง โดยทำงานให้รัฐเพียงปีละ 4 เดือน สมัยรัชกาลที่ 2 ได้ลดลงอีกเหลือเพียงปีละ 3 เดือนเท่านั้น และในจำนวนเวลา 3 เดือนที่ต้องเข้าเวรนี้ ถ้าผู้ใดจะส่งเงินมาเสียเป็นค่าราชการแทนการเข้าเวรก็ได้ เดือนละ 6 บาท ปีละ 18 บาท สำหรับไพร่สมนั้น ให้เข้ามารรับราชการด้วยเช่นกันปีละ 1 เดือน หรือจ่ายเป็นเงิน ปีละ 6 บาท

นอกจากนั้น ยังยอมให้ไพร่ที่กระทำผิดแล้วมามอบตัวจะไม่ถูกลงโทษ ให้ไพร่สามารถเลือกขึ้นสังกัดมูลนายได้ตามสมัครใจ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ยังโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชทานตราภูมิคุ้มห้ามแก่ไพร่หลวงทุกคน ทำให้ตั้งแต่นั้นมาไพร่หลวงจะได้รับการยกเว้นอากรค่าน้ำ อากรตลาดและอากรสมพัตสร ภายในวงเงิน 4 บาท (1 ตำลึง) และจ่ายเฉพาะเงินภาษีอากรส่วนที่เกินกว่า 4 บาทขึ้นไป การผ่อนปรนกับไพร่นั้น ยังคงต่อเนื่องมาในสมัยหลัง คือ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงยอมให้ไพร่ถวายฎีกาโดยตรงได้ ในกรณีที่ถูกข่มเหงจากมูลนาย โดยไม่จำเป็นต้องร้องเรียนผ่านตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม

(2) โครงสร้างชนชั้นของสังคม

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โครงสร้างชนชั้นของสังคมยังคงคล้ายกับสมัยกรุงศรีอยุธยา คือ มี 2 ชนชั้น ได้แก่ ชนชั้นปกครอง และขุนนาง โดยมีรายละเอียดดังนี้

พระมหากษัตริย์
พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจสูงสุด พระบรมราชโองการของพระองค์เป็นกฎหมาย พระมหากษัตริย์ทรงมีฐานะดุจสมมติเทพ

พระบรมวงศานุวงศ์
พระบรมวงศานุวงศ์ เป็นผู้ที่สืบเชื้อสายของพระมหากษัตริย์ ตำแหน่งของพระบรมวงศานุวงศ์ จะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

- สกุลยศ หมายถึง ตำแหน่งที่สืบเชื้อสายมาโดยกำเนิด ซึ่งสกุลยศในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มี 3 ตำแหน่ง ได้แก่ เจ้าฟ้า พระองค์เจ้า และหม่อมเจ้า
- อิสสริยยศ หมายถึง ตำแหน่งที่พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานหรือเลื่อนยศให้ ซึ่งอิสสริยยศที่มีตำแหน่งสูงที่สุด คือ พระมหาอุปราช


ขุนนาง
ขุนนาง เป็นกลุ่มบุคคลที่ช่วยเหลือกิจการบริหารราชการแผ่นดินของพระมหากษัตริย์ ให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ขุนนางได้รับการยกเว้นการเกณฑ์แรงงาน และขุนนางในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีอิทธิพลและบทบาททางการเมืองสูง


ไพร่
ไพร่ หมายถึง ราษฎรทั่วไปทั้งชายและหญิง ที่มิได้เป็นเจ้านาย ขุนนาง และมิได้เป็นทาส นับเป็นชนชั้นที่มีจำนวนมากที่สุดของสังคม ไพร่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่สำคัญ คือ ไพร่สม ไพร่หลวง และไพร่ส่วย เหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยา
ไพร่หลวงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้รับการผ่อนผันลดหย่อนเวลาเกณฑ์แรงงาน ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจที่ต้องการให้ไพร่เหล่านี้ได้ผลิตสินค้าเพื่อขายสู่ ตลาดมากขึ้น ในสมัยนี้เนื่อง่จากการค้าเจริญรุ่งเรือง ไพร่ส่วยมีความสำคัญมาก เพราะรัฐบาลเร่งเอาส่วยสิ่งของต่าง ๆ เพื่อนำไปค้าขาย นับเป็นภาระหนักอย่างหนึ่งของไพร่ จึงมีคนจำนวนมากหนีระบบไพร่ โดยการไปเป็นไพร่สมของเจ้านายหรือขุนนางผู้มีอำนาจหรือขายตัวเป็นทาส จนในสมัยรัชกาลที่ 3 ประกาศห้ามขุนนางหรือเจ้านายซ่องสุมกำลังคน


ทาส
ทาส เป็นชนชั้นต่ำสุดของสังคม ทำงานให้แก่นายเงินของตนเท่านั้น ไม่ต้องเข้าเวรรับราชการเช่นไพร่ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้ระบุประเภทของทาสไว้ 7 ประเภท คือ

1. ทาสสินไถ่ คือ ทาสที่ไถ่หรือซื้อมาด้วยทรัพย์
2. ทาสในเรือนเบี้ย คือ เด็กที่เกิดมาในขณะที่พ่อแม่เป็นทาส

3. ทาสที่ได้มาจากฝ่ายบิดามารดา คือ ทาสที่ได้รับเป็นมรดกสืบทอด

4. ทาสท่านให้ คือ ทาสที่มีผู้ยกให้

5. ทาสที่ได้เนื่องมาจากนายเงินไปช่วยให้ผู้นั้นพ้นโทษปรับ

6. ทาสที่มูลนายเลี้ยงไว้ในยามข้าวยากหมากแพง

7. ทาสเชลย คือ ทาสที่ได้มาจากสงคราม


พระสงฆ์
พระสงฆ์ เป็นกลุ่มสังคมที่มาจากทุกชนชั้นในสังคม มีหน้าที่อบรมสั่งสอนประชาชน เป็นครูผู้สอนหนังสือและวิทยาการต่าง ๆ แก่เด็กผู้ชาย



ด้านศาสนา

(1) การสังคายนาพระไตรปิฎก

พระไตรปิฎก คือ คัมภีร์บรรจุพระธรรมคำสั่งสอนทั้งปวงในพระพุทธศาสนา รัชกาลที่ 1 ทรงให้มีการชำระสะสางพระไตรปิฎกขึ้นที่วัดมหาธาตุ และจารึกลงในใบลาน คัดลอกเป็นพระไตรปิฎกฉบับหลวงขึ้น ปิดทองทั้งปกหน้าและด้านข้าง เรียกว่า พระไตรปิฎกฉบับทองใหญ่ หรือ ฉบับทองทึบ อัญเชิญประดิษฐานไว้ในตู้ประดับมุก หอพระมนเทียรธรรม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

(2) การกวดขันพระธรรมวินัย

รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ออกกฎหมายสำหรับสงฆ์ขึ้นหลายฉบับ ถึงสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สำรวจความประพฤติของพระสงฆ์ เมื่อพบว่าพระสงฆ์รูปใดไม่ตั้งอยู่ในพระธรรมวินัย ก็ให้จับสึกเสีย

(3) การสถาปนาธรรมยุติกนิกาย

ในสมัยรัชกาลที่ 3 สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฏ ได้เสด็จออกผนวช ทรงพบว่าคำสอน และข้อปฏิบัติต่าง ๆ ทางศาสนาพุทธวิบัติไปเป็นอันมาก พระภิกษุก็มิได้เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้าน จึงมีพระประสงค์จะสังคายนาคณะสงฆ์เสียใหม่ ทรงตั้งคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เมื่อ พ.ศ. 2372 แต่มิได้เลิกคณะสงฆ์เดิม และเรียกคณะสงฆ์เดิมว่า ฝ่ายมหานิกาย

(4) การส่งสมณทูตไปลังกา
ในสมัยรัชกาลที่ 2 ส่งสมณทูตไปลังกา ทั้งหมด 9 รูป โดยมีพระอาจารย์ดี และพระอาจารย์เทพ เป็นหัวหน้า และได้นำหน่อพระศรีมหาโพธิ์มาจากลังกา 6 ต้น ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระสงฆ์เดินทางไปลังกาเพื่อขอยืมพระไตรปิฎกมาตรวจสอบกับของไทย 2 ครั้ง คือ ใน พ.ศ. 2385 และ พ.ศ. 2387

(5) การสร้างและบูรณะวัดวาอาราม

- วัดพระศรีรัตนศาสดาราม รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในเขตพระบรมมหาราชวังชั้นนอก เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับวัดพระศรีสรรเพชญสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นวัดที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต วัดนี้จึงได้ชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า วัดพระแก้ว"

- วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ใช้เวลา 12 ปี ถือกันว่า เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 และได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 3 ใช้เวลา 16 ปี โปรดเกล้าฯ ให้มีการประชุมนักปราชญ์ ราชบัณฑิต และช่างทุกสาขาให้ช่วยกันชำระตำรา และจารึกไว้บนแผ่นศิลาตามเสา และผนังรายรอบบริเวณวัด เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาค้นคว้า วัดนี้จึงจัดว่าเป็นวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทย
- วัดสุทัศนเทพวราราม รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานของพระศรีศากยมุนี หรือ พระโต

- วัดอรุณราชวราราม เดิมเรียกวัดแจ้ง รัชกาลที่ 2 ทรงบูรณปฏิสังขรณ์และได้สร้างพระอุโบสถใหม่ วัดนี้มีพระปรางค์องค์ใหญ่ที่งดงาม และได้ชื่อว่าเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2





ด้านขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม


ประเพณี

1. พระราชพิธีปราบดาภิเษกขึ้นเสวยราชย์ของพระมหากษัตริย์ รวมทั้งการสมโภชพระราชวังที่เพิ่งสร้างเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 1

2. พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เป็นพิธีสาบานตนของพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนางผู้ใหญ่ ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 1 พระองค์โปรดฯ ให้เคารพพระรัตนตรัยก่อนพระเชษฐบิดร

3. พระราชพิธีโสกันต์ คือ ประเพณีตัดผมจุกของพระราชโอรส พระราชธิดา หรือ เชื้อพระวงศ์ชั้นสูง

4. พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน ในสมัยรัชกาลที่ 1 โปรดที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินวัดที่พระองค์ทรงแต่งตั้งพระ ราชาคณะไปปกครอง

5. พระราชพิธีจรดพระนังคัลและพระราชพิธีพืชมงคล ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่เกี่ยวกับการเพาะปลูก ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวไทย

6. พระราชพิธีวิสาขบูชา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้รื้อฟื้นพระราชพิธีนี้ขึ้นมาเป็นพิธีหลวงอีกพิธีหนึ่ง

7. พระราชพิธีอาพาธพินาศ ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่จะต่อสู้กับโรคอหิวาตกโรค



วรรณกรรม

ราชสำนักจัดว่าเป็นศูนย์กลางของวรรณกรรมและเป็นที่ชุมนุมของกวี

สมัยรัชกาลที่ 1 วรรณคดีที่สำคัญ ได้แก่ รามเกียรติ์ ราชาธิราช และสามก๊ก

สมัยรัชกาลที่ 2 ทรงเป็นกวี พระราชนิพนธ์ที่ได้รับการยกย่องมากที่สุด คือ อิเหนา กวีเอกคนสำคัญในสมัยนี้ คือ สุนทรภู่ ผลงานที่เด่นชัดที่สุด คือ เรื่องพระอภัยมณี

สถาปัตยกรรม

แบบอย่างของสถาปัตยกรรม ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยเฉพาะสมัยรัชกาลที่ 1 และ รัชกาลที่ 2 ได้เจริญรอยตามแบบอย่างสถาปัตยกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาเกือบทั้งหมด ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 3 นิยมศิลปะการก่อสร้างแบบจีน โดยเฉพาะรูปแบบการสร้างวัด

จิตรกรรม

งานจิตรกรรมในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ส่วนใหญ่เป็นจิตรกรรมฝาผนัง และเลียนแบบอย่างมาจากกรุงศรีอยุธยา จิตรกรรมฝาผนังรุ่งเรืองมากที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 3 และมีลักษณะศิลปะแบบจีนเข้ามาปะปนอยู่ด้วย จิตรกรรมที่สำคัญและมีชื่อเสียง ได้แก่ ภาพเขียนในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล ภาพฝาผนังที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นต้น

การศึกษา

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ศูนย์กลางของการศึกษาที่สำคัญมีอยู่ 2 แห่ง คือ วัง และ วัด การเรียนหนังสือภาไทย เดิมยังไม่มีแบบเรียน เพิ่งมีเมื่อหมอบรัดเลย์ พิมพ์หนังสือประถม ก.กา ออกจำหน่าย ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยังไม่มีโรงเรียนเป็นหลักแหล่ง ต้องไปศึกษาตามสำนักต่าง ๆ การเรียนที่สำคัญอีกแบบหนึ่ง คือ การศึกษาวิชาชีพตามบรรพบุรุษ หรือตามอาชีพที่มีในท้องถิ่นของตน เช่น ช่างทอง ช่างถม เป็นต้น








การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ถึงปัจจุบัน

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475





ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 กลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งที่ต่อมาเรียกตนเองว่า "คณะราษฎร" ได้ยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบ ประชาธิปไตย
คณะราษฎรเกิดจากการรวมกลุ่มของข้าราชการและนักเรียนไทย 7 คนในฝรั่งเศสและยุโรปที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศสยาม ภายใต้การนำของนายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) เมื่อนักเรียนเหล่านี้กลับมาเมืองไทยก็ได้ขยายกลุ่มสมาชิกภายในประเทศและขอ ให้พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นหัวหน้าผู้ก่อการ โดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นแกนนำฝ่ายพลเรือน หลวงพิบูลสงครามเป็นแกนนำฝ่ายทหารบก


1.
สาเหตุของการปฏิวัติ เกิดจากปัจจัยทางการเมืองและปัจจัยทางเศรษฐกิจ ในด้านปัจจัยทางการเมือง การปฏิรูปบ้านเมืองและปฏิรูปการศึกษาในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้เกิดชนชั้นกลางที่เรียนรู้รูปแบบการเมืองการปกครองของชาติตะวันตก ทำให้เห็นว่าการปกครองโดยคน ๆ เดียวหรือสถาบันเดียวไม่อาจแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ทั้งหมด นอกจากนี้ชนชั้นกลางจำนวนมากไม่พอใจที่บรรดาเชื้อพระวงศ์ผูกขาดอำนาจการ ปกครองและการบริหารราชการ กลุ่มคนรุ่นใหม่ต้องการให้มีการปกครองระบอบรัฐสภาและมีรัฐธรรมนูญ บางกลุ่มต้องการให้มีการปกครองระบอบสาธารณรัฐ
ในด้านปัจจัยทางเศรษฐกิจ ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและการดุลข้าราชการออกจำนวนมากเพื่อตัดลดงบประมาณ ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการและประชาชนที่เดือดร้อนจากปัญหา เศรษฐกิจ ทำให้เป็นสาเหตุหนึ่งที่คณะราษฎรใช้โจมตีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิ ราชย์


2.
เหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ในวันที่ 24 มิถุนายน คณะผู้ก่อการเข้ายึดอำนาจการปกครองที่กรุงเทพมหานคร และจับกุมพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้า ฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพอภิรัฐมนตรี เป็นตัวประกัน
ส่วนบริเวณลานหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคุณะผู้ก่อการได้อ่านประกาศยึดอำนาจการปกครอง ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระ บรมราชินี ประทับอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยอมารับการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะ ราษฏร เพราะทรงเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของราษฎรและไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ รวมทั้งพระองค์ก็ทรงมีพระราชดำริที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตย อยู่แล้ว
ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้เข้าเฝ้า ฯ และนำร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช 2475 ขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย เพื่อให้ลงพระปรมาภิไธย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเติมคำว่า "ชั่วคราว" ต่อท้ายรัฐธรรมนูญ นับเป็นการเริ่มต้นระบอบรัฐธรรมนูญของไทย ต่อมาในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ได้มีพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต


วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2553

พัฒนาการชาติไทยสมัยรัชกาลที่ 4-5-6-7 ด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม


หัวเลี้ยวหัวต่อของประวัติศาสตร์ไทยตอนนี้ อยู่ที่การทำ สนธิสัญญาเบาริง ในสมัยรัชการที่ 4  ที่มาและสาระสำคัญของการทำสนธิสัญญาเบาริง มีดังนี้

1. ในสมัยรัชการที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนแปลงนโยบาย ต่างประเทศ มาเป็นการคบค้ากับชาวตะวันตก เพื่อความอยู่รอดของชาติ เนื่องจากทรงตระหนักถึงภัยจากลัทธิจักรวรรดินิยม ซึ่งกำลังคุกคามประเทศต่าง ๆ อยู่ในขณะนั้น

2. จุดเริ่มของการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศ คือ การทำสนธิสัญญาเบาริง กับอังกฤษ ใน พ.ศ. 2398 โดยพระนางเจ้าวิกตอเรีย ได้แต่งตั้งให้ เซอร์ จอห์น เบาริง เป็นราชทูตเข้ามาเจรจา

3. สาระสำคัญของสนธิสัญเบาริง มีดังนี้
     -    
อังกฤษขอตั้งสถานกงสุลในประเทศไทย
     -    
คนอังกฤษมีสิทธิเช่าที่ดินในประเทศไทยได้
     -  
 คนอังกฤษสามารถสร้างวัด และเผยแพร่คริสต์ศาสนาได้
     -   เก็บภาษีขาเข้าได้ไม่เกินร้อยละ 3
     -   พ่อค้าอังกฤษและพ่อค้าไทยมีสิทธิค้าขายกันได้โดยเสรี
     -   
สินค้าต้องห้าม ได้แก่ ข้าว ปลา เกลือ
     -  ถ้าไทยทำสนธิสัญญากับประเทศอื่น ๆ ที่มีผลประโยชน์เหนือประเทศ อังกฤษ             จะต้องทำให้อังกฤษด้วย
     -  สนธิสัญญานี้ จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้ จนกว่าจะใช้แล้ว 10 ปี และในการแก้ไข      ต้องยินยอมด้วยกันทั้งสองฝ่าย และ ต้องบอกล่วงหน้า 1 ปี

4. ผลของสนธิสัญญาเบาริง

ผลดี
1. รอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ
2.
การค้าขยายตัวมากขึ้น เปลี่ยนแปลงการค้าเป็นแบบเสรี
3.
อารยธรรมตะวันตก เข้ามาแพร่หลาย สามารถนำมาปรับปรุงบ้านเมือง ให้เจริญก้าวหน้ามาขึ้น

ผลเสีย
1. ไทยเสียสิทธิทางการศาลให้อังกฤษ และคนในบังคับอังกฤษ
2.
อังกฤษ เป็นชาติที่ได้รับสิทธิพิเศษหลายอย่าง
3.
อังกฤษ เป็นฝ่ายได้เปรียบ จึงไม่ยอมทำการแก้ไข

ผล จากการทำสนธิสัญญาเบาริง ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทำให้สภาพสังคมไทย เปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพื่อนำประเทศให้เจริญก้าวหน้า ตามแบบอารยธรรมตะวันตก การเปลี่ยนแปลง ในด้านต่าง ๆ มีดังนี้

1. ด้านการปกครอง

ใน สมัยรัชกาลที่ 4 ทรงแก้ไขเปลี่ยนแปลงประเพณีบางอย่าง เพื่อให้ราษฎร มีโอกาสใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ คือ เปิดโอกาสให้ราษฎร เข้าเฝ้าได้โดยสะดวก ให้ราษฎรเข้าเฝ้าถวายฎีการ้องทุกข์ได้ ในขณะที่ทรงเสด็จพระราชดำเนิน ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการปฏิรูปการปกครอง ครั้งสำคัญ โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ การปรับปรุงในระยะแรก ให้ตั้งสภา 2 สภา คือ สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State) และ สภาที่ปรึกษาในพระองค์ (Privy Council) กับการปรับปรุงการปกครอง ในระยะหลัง (พ.ศ. 2435) ซึ่งนับว่า เป็นการปฏิรูปการปกครองครั้งใหญ่ โดยมีลักษณะ คือ การปกครองส่วนกลาง โปรดให้ยกเลิกการปกครอง แบบจตุสดมภ์ และ จัดแบ่งหน่วยราชการเป็นกรมต่าง ๆ 12 กรม (กะรทรวง) มีเสนาบดีเป็นเจ้ากระทรวง การปกครองส่วนภูมิภาค ทรงยกเลิก การจัดหัวเมืองที่แบ่งเป็นเมืองชั้นเอก โท ตรี และจัตวา เปลี่ยนการปกครองเป็น เทศาภิบาล ทรงโปรดให้รวมเมืองหลายเมืองเป็นมณฑล มีข้าหลวงเทศาภิบาล เป็นผู้ปกครอง ขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย กับทรงแบ่งการปกครองส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัด (เมือง) อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน และการปกครองส่วนท้องถิ่น เริ่มจัดการทดลองแบบ สุขาภิบาลขึ้นเป็นครั้งแรก

2. ด้านเศรษฐกิจ

ภาย หลังการทำสนธิสัญญาเบาริงแล้ว การค้าของไทยเจริญก้าวหน้าขึ้น มาก ทำให้มีการปรับปรุงด้านเศรษฐกิจ เช่น ในรัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนการใช้เงินพดด้วงมาเป็นเงินเหรียญ และขุดคลอง ตัดถนนเพิ่มขึ้นหลายสาย ในสมัยรัชกาลที่ 5 เปลี่ยนมาตราเงินไทยมาใช้ระบบทศนิยม ใช้ทองคำเป็นมาตรฐานเงินตราแทนเงิน ให้ใช้เหรียญบาท สลึง และเหรียญสตางค์แทนเงินแบบเดิม มีการจัดตั้งธนาคารของเอกชนขึ้นเป็นครั้งแรก คือ แบางก์สยามกัมมาจล (ปัจจุบัน คือ ธนาคารไทยพาณิชย์) ในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดให้ตั้งคลังออมสินขึ้น (ปัจจุบันคือ ธนาคารออมสิน)

3.ด้านวัฒนธรรม

ใน สมัยรัชกาลที่ 4 ทรงประกาศให้ข้าราชการสวมเสื้อเวลาเข้าเฝ้า ทรงให้เสรีภาพประชาชน ในการนับถือศาสนาและประกอบอาชีพ โปรดให้สตรีได้ยกฐานให้สูงขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการสวมเสื้อราชปะแตก และสวมหมวกอย่างยุโรป ให้ข้าราชการทหารแต่งเครื่องแบบ ตามแบบตะวันตก โปรดให้ผู้ชายในราชสำนัก ไว้ผมทรงมหาดไทย เปลี่ยนมาไว้ผมตัดยาวทั้งศีรษะแบบฝรั่ง โปรดให้ผู้หญิงเลิกไว้ผมปีก ให้ไว้ผมตัดยาว ที่เรียกว่า "ทรงดอกกระทุ่ม" ทรงแก้ไขประเพณีการสืบสันตติวงศ์ โดยยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล แล้วโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร ขึ้น ทรงเลิกประเพณีหมอบคลานเข้าเฝ้า และให้ยืนเข้าเฝ้าแทน ยกเลิกการโกนผม เมื่อพระมหากษัตริย์สวรรคต ยกเลิกการไต่สวนคดีแบบจารีตนครบาล และที่สำคัญที่สุด ที่พระองค์ทรงได้พระราชสมัญญานาม ว่า "พระปิยมหาราช" ซึ่งแปลว่า มหาราชที่ทรงเป็นที่รักของประชาชน คือการยกเลิกระบบไพร่ และระบบทาส ในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงประกาศใช้พระราชบัญญัตินามกสุล โปรดให้ใช้พุทธศักราช (พ.ศ.) เป็นศักราชทางราชการ แทนรัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) เปลี่ยนแปลงการนับเวลาทางราชการ ให้สอดคล้องกับสากลนิยม โปรดให้กำหนดคำนำหน้าชื่อเด็กหญิง เด็กชาย นางสาว และนาง เปลียนแปลงธงประจำชาติ จากธงรูปช้างเผือก มาเป็นธงไตรรงค์ ตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ ตามแบบประเทศยุโรป

4.สภาพสังคม

การ เลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงดำริว่า การที่ประเทศไทยมีชนชั้นทาสมากเท่ากับเป็นการเสียเศรษฐกิจของชาติ และทำให้ต่างชาติดูถูกและเห็นว่าประเทศไทยป่าเถื่อนด้อยความเจริญ ซึ่งมีผลทำให้ประเทศมหาอำนาจต่างๆ คิดจะเข้าครอบครองไทย โดยอ้างว่า เพื่อช่วยพัฒนาประเทศไทยให้ทัดเทียมประเทศอื่นๆ ที่เจริญแล้วทั้งหลาย
ดัง นั้น ใน พ.ศ.2417 พระองค์จึงทรงเริ่มออกพระราชบัญญัติพิกัดกระเษียรอายุลูกทาสลูกไทขึ้น โดยกำหนดค่าตัวทาสอายุ 7-8 ปี มีค่าตัวสูงสุด 12-14 ตำลึง แล้วลดลงเรื่อยๆ เมื่อมีอายุ 21 ปี ค่าตัวจะเหลือเพียง 3 บาท ซึ่งทำให้ทาสมีโอกาสไถ่ตัวเป็นไทได้มากและใน พ.ศ.2420 พระองค์ทรงบริจาคเงินจำนวนหนึ่งเพื่อไถ่ตัวทาสที่อยู่กับเจ้านายมาครบ 25 ปี จำนวน 45 คน พ.ศ.2443 ทรงออกกฎหมายให้ทาสสินไถ่อายุครบ 60 ปี พ้นจากการเป็นทาสและห้ามขายตัวเป็นทาสอีก พ.ศ.2448 ออกพระราชบัญญัติทาส ร.ศ.124 บังคับทั่วประเทศ ห้ามมีการซื้อทาสต่อไป ให้ลดค่าตัวลงเดือนละ 4 บาท จนครบจำนวนเงิน และให้บรรดาทาสเป็นไททั้งหมด
การ เลิกทาสของพระองค์ประสบความสำเร็จอย่างดี เป็นเพราะพระปรีชาญาณและพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ทรงใช้ทางสายกลาง ค่อยๆดำเนินงานไปทีละขั้นตอน ทำให้ไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงดังเช่นประเทศต่างๆ ที่เคยประสบมา



ที่มา:
http://www.skoolbuz.com/library/content/1385